Surya หนังสือพิมพ์แนวหน้าของชวาตะวันออก อินโดนีเซีย ได้คัดเลือกบทความภาษาอินโดนีเซียของนักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ลงตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม

          บทความภาษาอินโดนีเซียของนักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษา ชั้นปีที่ 3 สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังคงได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Surya อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม โดยในครั้งมีบทความที่ได้รับคัดเลือกมากถึงหกบทความ ได้แก่

  1. บทความเรื่อง Aksesori Unik dari Rajut dan Tenun (เครื่องประดับจักสานย่านลิเภา) เขียนโดยนางสาว ธนันญา สำเภาทอง นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องประดับจักสานย่านลิเภาซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ต้องใช้ความประณีตเเละความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากจนทำให้เกิดลวดลายที่วิจิตรงดงามและมีเอกลักษณ์พิเศษของภาคใต้
  2. บทความเรื่องIndanya lautan kabut di Phu Thap Boek, Thailand (ความงดงามทะเลหมอก ณ ภูทับเบิก ประเทศไทย) เขียนโดยนางสาวลลิตา เนียมนุช นำเสนอเกี่ยวกับภูทับเบิก สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบอากาศหนาวและกลายเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะได้สัมผัสกับธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์แล้วยังได้เห็นวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมของชาวม้งอีกด้วย
  3. บทความเรื่องBalap Batok di Thailand (การแข่งเดินกะลามะพร้าวที่ประเทศไทย)เขียนโดยนางสาวฟัดลีนา ยะผา นำเสนอเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านอย่างเดินกะลา ในอดีตการละเล่นชนิดนี้นอกจากสร้างความสนุกสนานแล้วยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะพบเห็นได้บ่อยในชนบทต่างจังหวัด
  4. บทความเรื่องCoba Saja Ketan Bakar Santan ala Thailand (ชวนชิมข้าวหลามจากไทย) เขียนโดยนางสาวศิริวรรณ มาศแก้ว  นำเสนอเกี่ยวกับข้าวหลาม อาหารว่างที่สามารถพบเจอได้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบพื้นบ้านทำให้ข้าวหลามมีกลิ่นหอมอบอวลไปด้วยน้ำกะทิที่ถูกเผาไหม้ในกระบอกไม้ไผ่ ปัจจุบันข้าวหลามจึงเป็นอาหารพื้นบ้านจากไทยที่โด่งดังไปหลายประเทศ
  5. บทความเรื่องRub Bua, Tradisi  lempar teratai untuk menyembah Buddha (งานประเพณีรับบัว) เขียนโดยนางสาวเจษฎาพร เกษรสิทธิ์ นำเสนอเกี่ยวกับประเพณีรับบัว ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยตอนเช้าตรู่ก่อนวันออกพรรษาจะมีการจัดพิธีรับบัวหรือโยนบัวลงในเรือที่ได้รับการตกแต่งสวยงามเพื่อความเป็นสิริมงคล 
  6. บทความเรื่อง Festival Makan Sayur yang Menyeramkan di Thailand (เทศกาลกินผักน่าขนลุกในไทย) เขียนโดยนางสาว ปิยะนุช หาญสกุล  นำเสนอเกี่ยวกับเทศกาลกินเจของคนไทยเชื้อสายชาวจีนในจังหวังภูเก็ต พังงา และกระบี่ เทศกาลถือศีลกินเจประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานที่จะจัดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้งและถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังเป็นอย่างมากทางภาคใต้ของประเทศไทย

            นักศึกษาทั้งหกได้ถ่ายทอดสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร ประเพณีท้องถิ่น และงานหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยลงในบทความผ่านภาษาอินโดนีเซียที่ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์เจ้าของภาษาโดยตรง ทั้งนี้ บทความของนางสาวเจษฎาพร เกษรสิทธิ์ เป็นบทความที่สองและบทความของนางสาวฟัดลีนา ยะผา เป็นบทความที่สามที่ได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว