หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ภาษาไทย :      ชื่อเต็ม    รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต

                          ชื่อย่อ     รป.ม.

ภาษาอังกฤษ : ชื่อเต็ม   Master of Public Administration

                           ชื่อย่อ   M.P.A.

จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร

     แผน ก แบบ ก 2     ไม่น้อยกว่า  36 หน่วยกิตระบบทวิภาค
     แผน ข                     ไม่น้อยกว่า  36 หน่วยกิตระบบทวิภาค

ระบบการเรียนการสอน

     หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มุ่งให้นักศึกษามีคุณธรรมจริยธรรม และมีการศึกษาค้นคว้าที่ลุ่มลึกในระดับสูงอย่างอิสระ มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ หลักสูตรจะเน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ และนักศึกษาต้องมีความสามารถในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยกระบวนการจัดการเรียนทุกรูปแบบอยู่บนกรอบมาตรฐานของ UKPSF (United Kingdom Professional Standard Framework) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นำมาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีมาตรฐาน โดยมีกรอบการจัดการเรียนการสอนดังนี้

     1) ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนสอนของอาจารย์อย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษา

     2) ออกแบบและควบคุมกระบวนการเรียนการสอน และการเรียนรู้ อย่างสร้างสรรค์ ด้วยนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความหลากหลายการในเชิงวิชาการและวิชาชีพ

     3) ตระหนักถึงความหลากหลายและคุณภาพของการสอน การเรียนรู้ และการประเมินผลที่สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน

     4) อำนวยความสะดวกแก่บุคลากร และสถาบันที่เป็นที่ยอมรับด้านแนวทางการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบ รวมถึงการปฏิบัติการวิจัยร่วมกัน

การรับเข้าศึกษา

     รับทั้งนักศึกษาไทย และนักศึกษาต่างชาติ (ที่สามารถใช้ภาษาไทยได้ดี ทั้งพูด อ่าน เขียน) ทั้งนี้เกณฑ์การรับนักศึกษาให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าด้วยการศึกษาขั้นบัณฑิตศึกษา ระบบทวิภาค พ.ศ. 2565 โดยคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำหลักสูตร อาจกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมอื่น ๆ ได้

     ในกรณีของนักศึกษาบัณฑิตศึกษาหลักสูตรอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยสามารถยื่นขอเทียบโอนเข้าเรียนในหลักสูตรได้ โดยให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำหลักสูตร

แนวทางประกอบอาชีพ

       1 อาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยรัฐ/มหาวิทยาลัยเอกชน

       2 ข้าราชการ พนักงานในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน

       3 พนักงานในองค์กรสาธารณะประโยชน์

       4 ผู้บริหาร หัวหน้างานในบริษัทเอกชน

       5 นักวิชาการ/ที่ปรึกษาอิสระ

แนวทางการศึกษาต่อ

สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต หรือสาขาอื่น ๆ ได้ ในทุกสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

ค่าธรรมเนียมการศึกษา

ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 35,000 บาท

โครงสร้างหลักสูตร

            โครงสร้างหลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 แผนการเรียน สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ พ.ศ. 2558 และเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2558 ดังนี้       

                         ก. แผน ก แบบ ก 2  จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร                                36  หน่วยกิต

                            1) หมวดวิชาบังคับ                                                                                  24  หน่วยกิต

                            2) วิทยานิพนธ์                                                                                        12  หน่วยกิต

                         ข. แผน ข  จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร                                              36  หน่วยกิต

                            1) หมวดวิชาบังคับ                                                                                 24  หน่วยกิต

                            2) หมวดวิชาเลือก                                                                                   9  หน่วยกิต

                            3) การค้นคว้าอิสระเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่                                           3  หน่วยกิต

                            (Independent Study for Area based Development)