นักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ได้รับคัดเลือกตีพิมพ์บทความภาษาอินโดนีเซียในหนังสือพิมพ์ Surya เป็นครั้งที่สอง

           นักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษา ชั้นปีที่ 3 สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์    ที่กำลังศึกษาอยู่มหาวิทลัยรัฐแห่งมาลัง(Universitas Negeri Malang) ณ เมืองมาลัง ประเทศอินโดนีเซียได้รับคัดเลือกตีพิมพ์บทความภาษาอินโดนีเซียลงในหนังสือพิมพ์ Surya หนังสือพิมพ์แนวหน้าของชวาตะวันออก โดยมีบทความที่ได้รับคัดเลือกทั้งสิ้นสี่บทความ ได้แก่

  1. บทความเรื่อง“Menikmati Kunang-kunang dari perahu” (เพลิดเพลินแสงหิ่งห้อยบนเรือ) เขียนโดย นางสาวฟัดลีนา ยะผา นำเสนอเกี่ยวกับตลาดน้ำอัมพวาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม ตลาดน้ำเก่าแก่ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติและกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมแบบโบราณ ทั้งยังมีการล่องเรือเยี่ยมชมหิ่งห้อยและวิถีชีวิตชาวบ้านริมฝั่งคลองเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขนาดย่อม
  2. บทความเรื่อง “Warna Meriah Nasi Campur Thailand” (สีสันสดใสข้าวยำไทย) เขียนโดย นางสาวภัทรวดี ศรีสะอาด นำเสนอเกี่ยวกับข้าวยำบูดู อาหารทางภาคใต้ของไทย ข้าวยำบูดูถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเพราะประกอบด้วยผักและสมุนไพรหลากหลายชนิดที่มีรสชาติ กลิ่น และสีสันเฉพาะตัว ข้าวยำบูดูเป็นอาหารที่สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนทางภาคใต้ที่ยังคงฝังแน่นจากรุ่นสู่รุ่น
  3. บทความเรื่อง “Riang Dalam Tarian Dike Hulu” (สนุกสนานไปกับการเต้นดิเกร์ ฮูลู) เขียนโดย นางสาว สุดาลักษณ์ เจียรวรรณ์ นำเสนอเกี่ยวกับ ดิเกร์ ฮูลู การละเล่นพื้นบ้านที่สะท้อนวิถีชีวิตพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมลายู ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จุดเด่นคือการผสมผสานท่าเต้นที่สื่อถึงธรรมชาติ การทำมือเป็นเกลียวคลื่น สายลม และสายน้ำ พร้อมกับปรบมือประกอบเสียงดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของการละเล่นดังกล่าว
  4. บทความเรื่อง“Menembak Roket Bang Fai” (จุดบั้งไฟ) เขียนโดย นางสาวศุภานิช ดีสา นำเสนอเกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีนี้อิงมาจากนิทานพื้นบ้านทางภาคอีสาน ตามความเชื่อเพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การละเล่นบั้งไฟร่วมกันจะได้เห็นความสามัคคีของคนในชุมชน ชาวอีสานจึงจัดทำบั้งไฟในเดือนหกของทุกปี

            บทความทั้งสี่ได้ถ่ายทอดศิลปะวัฒนธรรมไทย ประเพณีท้องถิ่น อาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว ผ่านภาษาอินโดนีเซียที่นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์เจ้าของภาษา ทั้งนี้ บทความของนางสาวฟัดลีนา ยะผา และนางสาวภัทรวดี ศรีสะอาด ถือเป็นบทความที่สองที่ได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว