โครงการวิจัยตึกรังนกในไทยและอินโดนีเซีย

26 เมษายน 2564

โครงการวิจัยเรื่อง “รัฐ ทุนนิยม ผู้คน กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม: กรณีศึกษาเปรียบเทียบธุรกิจตึกรังนกในประเทศไทยและอินโดนีเซีย” ของอาจารย์ทรรศนะ นวลสมศรี เป็นการศึกษาตึกรังนกในแง่มุมที่พ้นไปจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ คำถามของการวิจัยถือกำเนิดขึ้นจากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ว่า ภายใต้การขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจตึกรังนกในประเทศไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ได้เกิดกรณีความขัดแย้งและความตึงเครียดทางสังคมอันมีที่มาจากการสร้างและดำเนินการของตึกรังนกหลายต่อหลายกรณี ปัญหาเหล่านี้สมควรได้รับการวิเคราะห์ทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัญหาว่าด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ

โครงการวิจัยนี้มุ่งศึกษามิติทางสิ่งแวดล้อมและประเด็นปัญหาทางสังคมวัฒนธรรมของธุรกิจบ้านรังนก ผ่านการเก็บข้อมูลจากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและภาคใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคหลักที่ผลิตรังนก จากนั้นก็วิเคราะห์เปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ในอินโดนีเซียซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกรังนกที่ใหญ่ที่สุดของโลก โครงการวิจัยเชื่อว่าการทำความเข้าใจปรากฏการณ์แห่งปัญหาอย่างรอบด้านจะทำให้เห็นแนวทางการแก้ไข เพื่อให้การบริหารจัดการธุรกิจตึกรังนกดำเนินไปอย่างยั่งยืนแท้จริง

โครงการวิจัยนี้ของอาจารย์ทรรศนะเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยภายใต้ชุดโครงการวิจัยใหญ่ “การจัดการความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับธุรกิจรังนกบ้านไทยในยุค Covid-19 เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยชาติ สึงตี แห่งสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าชุดโครงการ และอาจารย์เกษม จันทร์ดำ นักวิจัยอาวุโสภาคใต้ เป็นกำกับดูแลการวิจัย ชุดโครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อปี พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ อาจารย์ทรรศนะ นวลสมศรี เป็นอาจารย์สังกัดหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซียศึกษาของหลักสูตร โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองร่วมสมัย รวมถึงการเมืองเปรียบเทียบในอาเซียน เคยทำวิจัยในประเด็นเรื่องการเมืองท้องถิ่น การเมืองวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง ความรุนแรง และวัยรุ่นอินโดนีเซีย